วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Pyrophoric substance MO Memoir : วันเสาร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๑



สาร pyrophoric เป็นสารที่สามารถลุกติดไฟได้ทันทีที่สัมผัสกับอากาศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นพวกที่มีอุณหภูมิจุดระเบิดได้ด้วยตัวเอง (autoignition temperature) ต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้สารพวกนี้ยังมักว่องไวต่อน้ำและโมเลกุลที่มีขั้ว (เช่น เมทานอล เอทานอล อะซีโทน ไดเอทิลอีเทอร์ เป็นต้น) ส่วนความว่องไวนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสาร การเก็บรักษาหรือการทำงานใด ๆ กับสาร pyrophoric ต้องทำในบรรยากาศของแก๊สเฉื่อย ที่ใช้กันมากที่สุดคืออาร์กอน (สารบางชนิดอาจใช้แก๊สไนโตรเจนแทนได้ แต่เพื่อความปลอดภัยแล้วการใช้แก๊สอาร์กอนจะเหมาะสมมากกว่าเพราะแก๊สอาร์กอนมีความเฉื่อยมากกว่า) สาร pyrophoric บางชนิดอาจอยู่ในอากาศได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ (เช่น LiAlH4 NaH เป็นต้น) แต่ในการเก็บรักษาต้องไล่อากาศออกจากภาชนะบรรจุให้หมดด้วยการใช้แก๊สเฉื่อยเป่าไล่

ตัวอย่างของสาร pyrophoric ได้แก่

- โลหะที่เป็นผงอนุภาคเล็ก ๆ ต่าง ๆ เช่น Mg Al Ca Zr Ti ฯลฯ
- Grignard reagent (R-MgX) ที่มักปรากฏในตำราอินทรีย์เคมีที่ใช้เป็นสารมัธยันต์ในการเตรียมสารประกอบต่าง ๆ
- ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะ และตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะบนตัวรองรับต่าง ๆ (supported metal catalyst)
- ฟอสฟอรัส
- โลหะอัลคาไลน์ (เช่น Li Na K)
- สารประกอบโลหะอินทรีย์ (metalorganic compound) โดยเฉพาะพวก alkylated และ alkoxide
- ฯลฯ

สาร pyrophoric ที่มีการใช้งานกันมากในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้แก่สารประกอบตระกูลอัลคิลอะลูมิเนียมต่าง ๆ เช่น triethyl aluminium (Al(C2H5)3) trimethy aluminium (Al(CH3)3) tributyl aluminium (Al(C4H9)3) dimethyl aluminium chloride (Al(CH3)2Cl) ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาร่วม (co-catalyst) ในการสังเคราะห์ polyolefin ต่าง ๆ (เช่น HDPE LLDPE PP PB เป็นต้น) ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาในตระกูล Ziegler-Natta สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมนั้นสารเหล่านี้จะถูกส่งมาในรูปของสารบริสุทธิ์ที่เป็นของเหลวบรรจุมาในภาชนะโลหะในบรรยากาศไนโตรเจน การถ่ายสารพวกนี้จะใช้แรงดันของแก๊สไนโตรเจน (จะหลีกเลี่ยงการใช้ปั๊มเพราะตัวปั๊มมักมีการรั่วไหล) และเวลานำไปใช้งานก็จะทำการเจือจางด้วยตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนที่เหมาะสม (เช่น เฮกเซน โทลูอีน ไซลีน เป็นต้น) สารเหล่านี้ถ้าอยู่ในรูปของสารบริสุทธิ์หรือความเข้มข้นสูงแล้ว ถ้ารั่วไหลสัมผัสกับอากาศเมื่อใดจะเกิดการลุกติดไฟเกิดเป็นเปลวไฟทันที แต่ถ้าอยู่ในรูปของสารละลายจะมีความปลอดภัยสูงกว่าเพราะอาจเกิดเป็นเพียงแค่ควันเกิดขึ้นถ้าหากความเข้มข้นต่ำมาก ดังนั้นสำหรับการใช้งานในระดับห้องปฏิบัติการเคมีแล้วจึงมักจะสั่งสารเหล่านี้มาในรูปของสารละลายในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนเพราะมีความปลอดภัยสูงมากกว่า แต่เวลาใช้งานก็ยังต้องทำงานในบรรยากาศของแก๊สเฉื่อย และก่อนที่จะทำการล้างภาชนะหรือนำภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้กับสารดังกล่าวออกมานอกบรรยากาศแก๊สเฉื่อย ยังต้องมีการทำลายสารที่อาจหลงเหลือจากการใช้งานก่อนด้วยการใช้สารที่ทำปฏิกิริยากับสาร pyrophoric เหล่านี้ได้ แต่ปฏิกิริยาที่เกิดต้องไม่รุนแรงเกินไป (เพราะจะทำให้ควบคุมไม่ได้) และไม่ควรจะเฉื่อยเกินไป (เพราะทำให้อาจทำลายได้ไม่หมด)

การใช้งานสารเหล่านี้ในห้องปฏบัติการเคมีทั่วไปจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า glove box glove box โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นตู้ปิดผนึกป้องกันการรั่วซึมของอากาศ โดยภายใน glove box จะมีการเปิดแก๊สเฉื่อย (เช่นอาร์กอน) เข้าไปตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศรั่วไหลเข้าไปข้างไหลจากรูรั่วต่าง ๆ ที่อาจมีอยู่ โดยจะให้แก๊สเฉื่อยรั่วไหลออกมาแทนทางรูรั่วนั้น การนำของเข้า-ออกจาก glove box จะต้องผ่านทางช่องทางพิเศษที่มีระบบกำจัดอากาศออกก่อนที่จะนำของเข้าไปใน glove box ได้ โครงสร้างอย่างง่ายของ glove box แสดงไว้ในรูปที่ 1 ข้างล่าง














รูปที่ 1 ภาพด้านหน้าของ glove box ทั่วไป

โดยทั่วไป glove box จะมีผนังใสด้านหน้าเพื่อให้มองเห็นภายใน มีช่องถุงมือสำหรับการหยิบจับสิ่งของภายในตู้ มีรูสำหรับป้อนแก๊สเฉื่อยเข้าไปในตัวตู้ มีช่องทางสำหรับนำสิ่งของเข้า-ออกจากตัวตู้โดยอาจมี 2 ช่องทางด้วยกัน คือช่องทางขนาดใหญ่สำหรับนำสิ่งของขนาดใหญ่เข้าไปในตัวตู้ (เครื่องแก้วขนาดใหญ่ เครื่องชั่ง เครื่องวัดต่าง ๆ ฯลฯ) และมีช่องทางขนาดเล็กสำหรับนำสิ่งของขนาดเล็กเข้าไปในตัวตู้ (บีกเกอร์ใบเล็ก ๆ ขวดขนาดเล็ก ขวดสารเคมีขนาดเล็ก) ช่องทางนำของเข้า-ออกนั้นจะมีประตูอยู่ 2 บานด้วยกัน คือประตูบานด้านนอกที่เชื่อมต่อกับอากาศด้านนอก และประตูบานด้านในที่เชื่อมต่อกับห้องทำงานด้านใน

การที่มีการแยกช่องทางนำของขนาดเล็ก-ใหญ่ก็เพื่อลดการปนเปื้อนของอากาศจากภายนอกเข้าไปในตัวตู้ เพราะในการนำของเข้าไปในตัวตู้นั้นจะต้องนำของนั้นใส่เข้าไปในช่องทางนำของเข้า-ออกก่อน จากนั้นจึงทำการไล่อากาศออกจากช่องทางนำของเข้าออก (ด้วยการทำสูบเอาอากาศออกและ/หรือเปล่าไล่ด้วยแก๊สเฉื่อย) และเมื่อมั่นใจว่ากำจัดอากาศออกหมดแล้วจึงเปิดประตูด้านในเพื่อนำของเข้าไปในตัวตู้ การกำจัดอากาศออกจากช่องทางนำของขนาดใหญ่เข้า-ออกจะทำได้ไม่ดีเท่ากับช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออก ถ้าใช้แต่ช่องทางนำของขนาดใหญ่เข้า-ออกก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของอากาศในตัวตู้ได้ง่าย

- Fire at a glove box

เรื่องต่อไปนี้โปรดใช้ความระมัดระวังในการอ่าน จุดประสงค์ของเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการพาดพิงหรือกล่าวโทษบุคคลใด ๆ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างยกมาเล่าให้ฟังเป็นอุทาหรณ์เท่านั้น กรุณาอย่านำไปพาดพิงหรืออ้างอิงถึงเหตุการณ์ใด ๆ และไม่รับรองความถูกต้องใด ๆ ด้วย เนื้อเรื่องจะเป็นตัวอักษรสีดำ ที่อยู่ในกรอบสีน้ำเงินเป็นข้อมูลที่ทราบภายหลังหรือความเห็นประกอบ ตัวอักษรสีแดงเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

ในห้องทดลองแห่งหนึ่งมีการใช้งานสารประกอบตระกูล alkyl aluminium อยู่เป็นประจำ โดยจะมาในรูปของสารละลายในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอน การทำงานต่าง ๆ จะกระทำใน glove box ในบรรยากาศของแก๊สอาร์กอน โดยนักเรียนได้รับคำแนะนำในการใช้งานจากครูผู้สอนว่า หลังใช้งานเสร็จแล้วให้ทำลายสาร alkyl aluminium ที่เหลืออยู่ด้วยการเติมเมทานอล (methanol - CH3OH) ลงไปอย่างช้า ๆ ถ้ายังมีสาร alkyl aluminium หลงเหลืออยู่จะเห็นเกิดควันขึ้น ก็ให้เติมเมทานอลลงไปอีกจนกว่าควันจะหมดไป และเมื่อควันหมดไปแล้วก็จะสามารถนำเอาภาชนะบรรจุและสารต่าง ๆ ออกมาจาก glove box ได้

สารประกอบเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับน้ำและแอลกอฮอล์ได้ ปฏิกิริยากับน้ำจะรุนแรง ในขณะที่ปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์จะว่องไวน้อยกว่า และจะลดความว่องไวลงถ้าหมู่อัลคิลมีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่นี้การใช้เมทานอลถือว่าใช้ได้ เพราะถ้าใช้แอลกอฮอล์ตัวใหญ่กว่านี้อาจใช้เวลาในการกำจัดนานมากเกินไปหรือทำลายได้ไม่หมด

อยู่มาวันหนึ่งนักเรียนได้รับมอบหมายงานจากครูผู้สอนให้ทำการทดลองโดยใช้สารตัวใหม่ที่ได้มาจากบริษัทแห่งหนึ่ง ทางบริษัทส่งสารตัวอย่างมาในรูปของสารละลายในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนพร้อมกับ MSDS (Material Safety Data Sheet) มาอีก 2 แผ่น และบอกว่าจัดการเหมือน alkyl aluminium ที่ใช้อยู่เป็นประจำ

จุดที่น่าสนใจในขณะนี้คือ (1) ไม่มีใครรู้หรือสงสัยจะถามกลับไปว่าสารที่ส่งมานั้นมีความเข้มข้นเท่าใด และใช้สารใดเป็นตัวทำละลาย (2) นักเรียนรับทราบแต่ชื่อการค้าของสาร แต่ไม่ได้อ่านชื่อทางเคมีที่แท้จริงของสาร และจะว่าไปแล้วดูเหมือนว่าไม่ว่านักเรียนหรือครูผู้สอนไม่มีใครสนใจที่จะอ่าน MSDS ของสารตัวใหม่ที่ได้รับมานี้เลย - สารที่ได้รับมาใหม่เป็นสารตระกูล alkyl magnesium ซึ่งมีการระบุชื่อทางเคมีและสูตรเคมีไว้ใน MSDS ด้วย

ในระหว่างการทำงานในวันหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุภาชนะบรรจุสารตัวใหม่หลุดมือตกแตกภายใน glove box นักเรียนจึงได้พยายามทำการเก็บกวาดด้วยการใช้กระดาษทิชชูซับสารที่หกนองพื้น และฉีดเมทานอลเพื่อทำลาย โดยทำตามขั้นตอนที่ได้เรียนมา คือฉีดเมทานอลจนกว่าจะไม่มีควันเกิดขึ้น และเมื่อสังเกตไม่เห็นการเกิดควันแล้วจึงได้นำเอากระดาษทิชชูออกทางช่องทางนำของเข้า-ออกขนาดเล็ก โดยเปิดประตูด้านในเพื่อเอากระดาษทิชชูที่ซับสารเคมีไว้ใส่เข้าไปในช่องทางนำของเข้า-ออกขนาดเล็กก่อน จากนั้นจึงทำการปิดประตูด้านใน

เมื่อทำการเปิดประตูด้านนอกเพื่อที่จะนำเอากระดาษทิชชูที่ซับสารเคมีออกไปทิ้ง ปรากฏว่าเกิดควันขึ้น นักเรียนจึงเข้าใจว่ายังทำลาย alkyl magnesium ไม่หมด จึงได้ทำการฉีดเมทานอลเข้าไปยังกระดาษทิชชูที่เห็นควันขึ้นนั้นเพื่อคาดหวังที่จะทำลายสาร alkyl magnesium ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้หมด แต่ปรากฏว่าเกิดไฟลุกรุนแรงขึ้น นักเรียนจึงได้ทำการฉีดเมทานอลเพิ่มเติมเข้าไปอีกเพื่อหวังจะเร่งทำลาย alkyl magnesium ที่หลงเหลืออยู่ แต่ปรากฏว่าไฟก็กลับลุกไหม้รุนแรงเข้าไปอีกโดยได้ลุกลามไปไหม้บริเวณข้างเคียงที่เป็นที่ตั้งของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ

โดยปรกติสารพวกนี้เช่น alkyl aluminium นั้น เมื่อได้รับความร้อน ส่วนที่เป็นหมู่อัลคิลจะสลายตัวกลายเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนพวก 1-olefin (โอเลฟินส์ที่มีพันธะคู่อยู่ที่คาร์บอนอะตอมแรก มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอัลฟาโอเลฟินส์) ดังสมการข้างล่าง

AlR3 ---> AlR2H + H2C=CH-......

และถ้าเป็นภายใต้การออกซิไดซ์ที่มีการควบคุม หมู่อัลคิลก็จะกลายเป็น primary alcohol (แอลกอฮอล์ที่มีหมู่ -OH อยู่ที่ปลายโซ่) และในกรณีของสารละลายเจือจางมากเพียงพอในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนนั้น ตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนจะช่วยดูดซับความร้อนเอาไว้ ทำให้เกิดเป็นแค่ควันโดยไม่มีการลุกติดไฟ

ในกรณีของการฉีดเมทานอล (หรือโมเลกุลที่มีขั้วเช่นน้ำ) เพื่อเข้าไปทำลายนั้น จะทำให้ส่วนที่เป็นหมู่อัลคิลของสารประกอบ alkyl aluminium (หรือ alkyl magnesium) สลายตัวกลายเป็นสารประกอบอินทรีย์และมีความร้อนคายออกมาด้วย ซึ่งถ้าเป็นในบรรยากาศของแก๊สเฉื่อยก็จะไม่เกิดการลุกติดไฟใด ๆ แต่ถ้าเป็นในอากาศแล้วล่ะก็ สารพวกนี้จะลุกติดไฟเนื่องจากปฏิกิริยากับออกซิเจนและความชื้นในอากาศจะให้ความร้อนมากพอที่จะทำให้ส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ลุกไหม้ได้ การฉีดเมทานอลเข้าไป "ไม่ได้" เข้าไปทำลายสารเหล่านั้นเลย แต่เป็นการเพิ่มเชื้อเพลิงให้กับการเผาไหม้ เพราะเมทานอลที่ฉีดเข้าไปจะลุกติดไฟจากเปลวไฟที่เกิดจากสารประกอบ alkyl magnesium ทำปฏิกิริยากับอากาศ

ในกรณีนี้เมื่อนักเรียนฉีดเมทานอลเข้าไป จึงทำให้เกิดไฟลุกไหม้รุนแรงขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ คือนักเรียนได้เรียนมาว่าการกำจัดสารประกอบเหล่านี้ให้ใช้วิธีการเติมเมทานอล (ซึ่งตรงจุดนี้เข้าใจว่าทางครูผู้สอนก็รู้แบบเดียวกัน) แต่ที่สำคัญคือนักเรียน (และดูเหมือว่าจะเป็นครูผู้สอนด้วย) ไม่รู้ว่า (หรือว่าไม่ได้คาดคิดว่า) วิธีการเหล่านั้นใช้ได้เฉพาะเมื่อ "อยู่ในบรรยายกาศแก๊สเฉื่อย" เท่านั้น

แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามต่อไป นักเรียนอีกผู้หนึ่งก็ได้คว้าถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งมาฉีดเพื่อทำการดับไฟ ทำให้ไฟที่ไหม้อยู่ดับลง จากนั้นพักหนึ่งทางครูผู้สอนก็ได้เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ เมื่อพบว่าไฟที่ไหม้อยู่ได้ดับลงแล้วก็ได้จากไปโดยไม่ได้สั่งอะไร (คงเป็นเพราะคิดว่านักเรียนคงจัดการต่อกันเองได้ หรือไม่ได้สนใจอะไรก็ได้ หรือไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปก็ได้ ฯลฯ อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน)

สถานการณ์ในช่วงหลังจากที่เปลวไฟที่ไหม้อยู่ดับลงไปแล้วค่อนข้างจะสับสนอยู่เหมือนกัน นักเรียนส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ยังคงตกใจอยู่ ทำอะไรไม่ถูก นักเรียนส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยทำการดับเพลิงยังคงรอเตรียมพร้อมรับคำสั่งอยู่ว่าจะทำอะไรต่อไป นักเรียนส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามามุงดูเหตุการณ์ นักเรียนส่วนหนึ่งถอยห่างออกไปจากบริเวณ (เรียกว่าหนีไปตั้งหลัก หรือเป็นพวกไม่อยากอยู่ในเหตุการณ์ก็ได้) ที่สำคัญคือในขณะนั้นขาดผู้สั่งการว่าควรจะต้องทำอะไรต่อ

โดยปรกติในการดับเพลิงนั้น แม้ว่าเราจะดับเปลวไฟลงไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่าการดับเพลิงยังไม่สิ้นสุด ต้องมีการทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้ซ้ำอีกในบริเวณเดิม ถ้าเป็นเพลิงไหม้บ้านทั่วไปที่เป็นอาคารไม้ สิ่งที่มักจะทำกันคือทำการฉีดน้ำเข้าไปในปริมาณมาก ๆ ต่อเนื่องไปอีกจนกระทั่งมั่นใจว่าทั่วทั้งบริเวณเย็นตัวลงหมดแล้ว ไม่มีการลุกไหม้ซุกซ่อนอยู่บริเวณใด ถ้าเป็นเพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันก็ต้องมีการฉีดน้ำเลี้ยงส่วนที่เป็นโลหะเอาไว้ให้เย็นตัวลง เพราะถ้าโลหะยังร้อนอยู่และไอน้ำมันระเหยมาสัมผัส ก็จะเกิดเพลิงลุกไหม้ซ้ำใหม่ได้ ถ้าเป็นในห้องทำเก็บของหรือห้องทำงาน ก็ควรมีการรื้อหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของออกจากบริเวณนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อเพลิงหรือเปลวไฟลุกไหม้ซุกซ่อนอยู่ตามซอกมุมที่สารดับเพลิงฉีดเข้าไปไม่ถึง

ในเหตุการณ์นี้ เพลิงที่ลุกไหม้เกิดจาก 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งคือเพลิงที่เกิดจากสารประกอบ alkyl magnesium ปนเปื้อนอยู่กับกระดาษทิชชูที่ค้างอยู่ในช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออกที่ดับลงเนื่องจากผงเคมีแห้งลงไปปกคลุม ทำให้สารเคมีไม่สัมผัสกับอากาศ ส่วนที่สองคือเพลิงที่เกิดจากเมทานอลที่ฉีดเข้าไปที่หกลงไปลุกไหม้ยังบริเวณอื่นและทำให้ชิ้นส่วนอื่นของอุปกรณ์ติดไฟไปด้วย

ในขณะนี้เพลิงไหม้ส่วนที่สอง (ที่เกิดจากเมทานอล) ไม่ได้เป็นปัญหาเท่าใด เพราะปริมาณเมทานอลที่ถูกฉีดเข้าไปมีไม่มาก และจำกัดอยู่ในบริเวณแคบ ๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เป็นฉนวนสายไฟที่ดับไฟด้วยตนเองเมื่อไม่มีเปลวไฟไปจ่อ ดังนั้นในส่วนนี้เมื่อทำการเก็บกวาดพื้นที่บริเวณรอบข้าง glove box ก็สามารถทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการลุกไหม้เกิดขึ้นเองอีก

ส่วนที่เป็นปัญหาคือส่วนแรกที่เกิดจากกระดาษทิชชูเปื้อนสารเคมีที่ยังคงค้างอยู่ที่ช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออก ซึ่งเพลิงส่วนนี้ดับลงเพราะมีผงเคมีแห้งปกคลุมอยู่ เมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดผิวผงเคมีแห้งจนกระดาษทิชชูสัมผัสกับอากาศก็จะทำให้เพลิงลุกไหม้ขึ้นมาใหม่ได้อีก โดยทั่วไปการดับเพลิงสารประเภทนี้ถ้าเป็นในที่โล่งก็จะใช้วิธีการเปิดผิวหน้าบริเวณที่มีสารอยู่ทีละน้อย ๆ ให้ค่อย ๆ สัมผัสกับอากาศเพื่อให้สารค่อย ๆ ลุกไหม้จนหมดไป แต่ในที่นี้เนื่องจากสารค้างอยู่ที่ช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออกของตัว glove box จึงทำให้ไม่สามารถจัดการสารเคมีที่ติดค้างอยู่บนกระดาษทิชชูด้วยการทำให้เกิดการเผาไหม้ทีละน้อย ณ ช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออกได้ วิธีการที่ได้กระทำกันคือใช้ vermiculite (บังเอิญมีอยู่ในขณะนั้น แต่ก็สามารถใช้สารอื่นแทนได้เช่นทรายแห้ง - ย้ำ ต้อง "แห้ง" เท่านั้น อย่าใช้ทรายเปียกน้ำ) เทคลุมทับลงไป แล้วค่อย ๆ ตักกระดาษทิชชูที่ตกค้างอยู่บริเวณช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออกใส่ถาดโลหะ (ในขณะนี้ถ้ามีไฟลุกขึ้นก็ให้เกลี่ย vermiculite (หรือทรายแห้ง) กลบทับ หรือเทลงไปเพิ่มเติม) นำออกไปทำลายในบริเวณที่ปลอดภัย

สิ่งที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้คือในการนำกระดาษทิชชูที่เปื้อนสารเคมีออกไปทำลายนั้น เมื่อมีการเกลี่ยพื้นผิว vermiculite ที่ปกคลุมอยู่ออกเพื่อให้กระดาษทิชชูสัมผัสกับอากาศ ปรากฏว่าเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในถาดโลหะ เมื่อเห็นดังนั้นนักเรียนก็พยายาม "ฉีดเมทานอล" เข้าไปอีก แม้จะมีการสั่งห้ามทันทีจากครูอีกผู้หนึ่งที่ถูกตามตัวเข้ามาช่วย ซึ่งแนะให้ฉีดน้ำเข้าไปแทน จึงทำให้เกิดการโต้เถียงกันอยู่ครู่หนึ่ง กว่าจะทำความเข้าใจกันได้ว่าวิธีการใดเหมาะกับการใช้ในบรรยากาศแก๊สเฉื่อย และวิธีการใดไม่เหมาะกับการใช้ในบรรยากาศที่เป็นอากาศ ในเวลานั้นทางครูที่ถูกตามตัวมาช่วยได้แนะนำให้ใช้น้ำในปริมาณมากฉีดเข้าไปแทน เพราะการฉีดเมทานอลไม่ได้ช่วยทำลายสารดังกล่าวแต่เป็นการเพิ่มเชื้อเพลิงให้กับการเผาไหม้ การฉีดน้ำแม้ว่าจะทำให้สารเคมีทำปฏิกิริยาก็ตาม แต่สารเคมีมีอยู่ในปริมาณไม่มาก และการฉีดน้ำปริมาณมากเข้าไปจะช่วยให้ทำลายสารได้สมบูรณ์และยังช่วยระบายความร้อนออกไปอีกด้วย (แต่อย่าใช้ในกรณีที่มีสารหกเป็นจำนวนมาก เพราะอาจเกิดการระเบิดได้) ในขณะนั้นทางครูผู้สอนนักเรียนดังกล่าวก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่ไม่ได้ให้ความเห็นอย่างใด

การจัดการกับสารเคมีที่อยู่นอก glove box เสร็จสิ้นในเย็นวันที่เกิดเพลิงไหม้ แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะในขณะนี้ glove box สูญเสียระบบควบคุมทั้งหมด (ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้า) จากไฟไหม้ รวมทั้งระบบป้อนแก๊สอาร์กอนเข้าไปในตัว glove box ด้วย ซึ่งความดันของแก็สอาร์กอนในตัวตู้ลดลงตลอดเวลา และถ้าเท่ากับความดันบรรยากาศเมื่อใดก็จะทำให้ออกซิเจนรั่วเข้าไปในตู้ glove box ได้ นอกจากนี้ยังมีของที่หกตกค้างอยู่ใน glove box ที่ยังไม่ได้รับการกำจัด ซึ่งสารที่หกอยู่ใน glove box นั้นไม่ได้หกค้างอยู่บนพื้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงส่วนที่ไปเปียกก้นภาชนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่วางอยู่ใน glove box ด้วย ซึ่งต้องมีการกำจัดสารเหล่านี้ออกให้หมด แต่เนื่องจากช่องทางนำของขนาดเล็กเข้า-ออกได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ จึงได้มีการแนะนำให้ใช้ช่องทางนำของขนาดใหญ่เข้า-ออกแทน แต่ก็ได้รับทราบว่าช่องทางนำของขนาดใหญ่เข้า-ออก "เสีย" มาตั้งนานแล้วโดยไม่มีใครทราบว่าเสียด้วยสาเหตุใด และเสียตั้งแต่เมื่อใด เพราะมีการบอกต่อ ๆ กันมาว่ามันเสีย จากนั้นก็เลยไม่มีใครสนใจ รู้แต่เพียงว่าฉันไม่ได้ใช้มันก็เลยไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็นอย่างไร ใครต้องการจะใช้ก็รับบทเป็นผู้ดำเนินการซ่อมเองก็แล้วกัน :

ในหลายประเทศ (เช่นในสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตาม) เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็มักจะพยายามปกปิดความผิดหรือปัดความรับผิดชอบไปยังผู้ปฏิบัติงาน แต่บางประเทศเช่นในสหราชอาณาจักรจะมีกฎหมายระบุว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องมีการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและสอบสวนว่าทำผิดพลาดไว้อย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้อื่นทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก การพยายามปกปิดถือว่ามีความผิด การสอบสวนนั้นจะครอบคลุมตั้งแต่การปฏิบัติงาน การออกแบบ การฝึกอบรม การจัดการ และวัฒนธรรมขององค์กรด้วย

เคยถามผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานที่มีป้ายขึ้นหน้าโรงงานว่า "เราทำงานมาแล้ว ... ชั่วโมง โดยที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ เป้าหมายคือ ... ชั่วโมง" โดยถามว่า ถามจริง ๆ เหอะ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะกล้ารายงานไหม ปรากฏว่าคำตอบที่ได้รับคือถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็มักไม่กล้ารายงาน จะปกปิดได้ถ้าสามารถกระทำได้ เพราะต้องการให้บรรลุเป้าหมายชั่วโมงการทำงานที่ทางหน่วยงานตั้งเอาไว้ โดยหน่วยงานมักตั้งรางวัลล่อใจเอาไว้ถ้าสามารถทำชั่วโมงทำงานได้ตามเป้า ถ้าทำไม่ได้ก็อดได้รางวัล ดังนั้นถ้าเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีการรายงาน ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุนอกจากจะเจ็บตัวจากอุบัติเหตุแล้ว ยังโดนเพื่อนร่วมงานช่วยกันรุมยำอีกด้วยในฐานะที่เป็นตัวที่ทำให้หน่วยงานอดได้รับรางวัล เรียกว่าซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง