วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

รถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก นครสวรรค์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๕) MO Memoir : Friday 24 January 2557

ท่าตะโก อำเภอ ขึ้น จ. นครสวรรค์ ตั้งที่ว่าการ ต. ท่าตะโก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ. หนองบัว อยู่ทางทิศตะวันตกของ อ. วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศเหนือของ อ. ตาคลี อยู่ทางทิศตะวันออกของ อ. เมืองนครสวรรค์ คมนาคมจากเมืองไปอำเภอโดยทางหลวงจังหวัด ผ่านสถานีรถไฟนครสวรรค์ (หนองปลิง) ระยะทาง ๔๕ กม. ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่ม ตอนอื่น ๆ ลุ่มบ้าง ดอนบ้าง ทำนาได้ทั่ว ๆ ไป แต่ที่ดอนต้องทำนาน้ำฝน พลเมือง ๗๕,๒๐๖ คน (.. ๒๕๑๘) นำนาเป็นพื้น
  
อ. ท่าตะโก มี ๙ ตำบล คือ ๑. ท่าตะโก ๒. เขาพนมเศษ ๓. ดอนคา ๔. ทำนบ ๕. พนมรอก ๖. วังมหากร ๗. วังใหญ่ ๘. สายลำโพง ๙. หัวถนน .. (อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน)
  
ข้อความข้างต้นนำมาจาก "สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๔ ทะเบียน-ธรรมราชา" พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ โดยบริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด หน้า ๘๕๘๙ แผนที่หน้า ๘๕๙๐ (รูปที่ ๑)
  
ที่หยิบเอาอำเภอนี้ขึ้นมาก็เพราะตอนที่ทำการย้ายหนังสือของพ่อไปเก็บอีกบ้าน เพื่อยกชั้นวางหนังสือให้กับลูก ได้มีโอกาสเอาหนังสือดังกล่าวมาพลิกดูรูปต่าง ๆ ข้างใน บังเอิญเล่มนี้กล่าวถึงอำเภอต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้หลายอำเภอ และมีแผนที่ประกอบด้วย ทำให้รู้ว่าแต่ก่อนนั้นพื้นที่ในแต่ละอำเภอเป็นอย่างไร และในส่วนของ อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ นั้น แผนทีก็แสดงให้เห็นด้วยว่าเคยมีรถไฟเดินทางไปถึง (รูปที่ ๒)
 
รูปที่ ๑ หนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๑๔ (เล่มซ้าย) ที่นำข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอท่าตะโกมาเล่าให้ฟัง ส่วนเล่ม ๑๘ (ขวา) เคยนำเอาเรื่อง "ปลุกผี" มาเล่าให้ฟังไปเมื่อต้นเดือนนี้เอง

รูปที่ ๒ แผนที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ จากหนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๔ ทะเบียน-ธรรมราชา พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ โดยบริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด หน้า ๘๕๙๐ ปรากฏเส้นทางรถไฟเล็กหัวหวาย-ท่าตะโกมาสิ้นสุดที่ตำบลท่าตะโก ไม่มีเส้นทางต่อขึ้นไปเหนืออีก แผนที่ที่แสดงนี้คงเป็นแผนที่เก่าที่ใช้ในการพิมพ์ครั้งแรก (หนังสือไม่ยักบอกว่าพิมพ์ครั้งแรกเมื่อใด) แต่ในเวลาที่พิมพ์ครั้งที่ ๒ เส้นทางรถไฟนี้ได้หายไปแล้ว (บ้านเราใช้ขนาดรางกว้างมาตรฐาน 1 เมตร (metre gauge) ถ้าใช้รางแคบกว่านี้จะเรียกว่ารถไฟเล็ก)

รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถไฟสายเหนือช่วงจังหวัดนครสวรรค์ แสดงแนวเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนไปแล้ว B.R. Whyte ทำเครื่องหมายไว้ว่าสงสัยว่าเส้นทางนี้จะมีต่อขึ้นเหนือเลยอำเภอท่าตะโกขึ้นไปอีก แผนที่นี้อยู่ในส่วนท้ายของหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte

รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ๒๔๘๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ หน้า ๖๑๔-๖๑๖ ขณะนั้นเป็นช่วงประเทศไทยจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงไม่กี่เดือน

รถจักรไอน้ำของประเทศไทยนั้นใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการลำเลียงไม้ที่ตัดจากป่ามายังสถานีรถไฟ ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างทางรถไฟเพื่อขนไม้ฟืนจากป่าในบริเวณข้างเคียงมายังสถานีรถไฟที่อยู่บนเส้นทางหลัก สถานีรถไฟหัวหวายก็เป็นหนึ่งในสถานีนั้น ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๑ น่า ๓๐๕ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานพระบรมราชาณุญาต ให้ใช้รถไฟหลวงทางขนาดย่อมที่ตำบลหัวหวาย เพื่อรับส่งสินค้า (สมัยรัชกาลที่ ๖) ได้ให้รายละเอียดว่าเดิมเป็นทางรถไฟขนาดรางกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ระยะทางยาวถึง ๒๘ กิโลเมตร จากเดิมที่ใช้เฉพาะการรถไฟเพื่อบรรทุกไม้ ก็อนุญาตให้ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าด้วย เส้นทางนี้ในหนังสือของ B.R. Whyte ระบุว่าสร้างและเปิดใช้ในปีค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐ หรือปลายรัชกาลที่ ๕)
  
ที่น่าเสียดายคือ แผนที่ที่แสดงแนวเส้นทางรถไฟลำเลียงไม้เส้นนี้กลับยังไม่มีปรากฏ

รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๒๕ เล่ม ๖๓ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ หน้า ๒๔๙-๒๕๑ เหมือนเป็นการเอาประกาศตอนพ.ศ. ๒๔๘๔ มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพราะยังใช้รูปเดิมแนวทางเดิม แสดงว่าช่วงสงครามนั้นคงไม่มีการก่อสร้างใด ๆ แต่ตอนนี้เป็นช่วงสงครามเพิ่งจะสิ้นสุดใหม่ ๆ

ที่พอจะหาได้กลับเป็นแผนที่ที่แสดงแนวเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก อีกเส้นหนึ่ง (ไม่ใช้เส้นรถขนฟืน) ดังที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒, ๗ และ ๘ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด แต่ก็ดูเหมือนว่ามีอายุใช้งานอยู่ไม่นานก่อนที่จะถูกรื้อทิ้งไป ขนาดความกว้างของรางรถไฟสายนี้ แผนที่ในรูปที่ ๒ บอกว่าเป็นรถไฟเล็ก (ความกว้างของรางน้อยกว่า 1 เมตร) แต่แผนที่ในรูปที่ ๗ และ ๘ นั้นแสดงเป็นใช้เครื่องหมายแบบเดียวกับทางรถไฟปรกติ ส่วน "ถนนไปบ้านหนองหลวง" นั้นคงเป็นแนวทางรถไฟขนฟืนเส้นเดิม
  
ใน "http://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟหัวหวาย" บอกว่าเส้นทางแยกไปท่าตะโกนี้มีการเปลี่ยนขนาดรางเป็น 1 เมตรในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ และเปลี่ยนแนวทางใหม่ แต่ดูจากราชกิจจานุเบกษาที่ค้นได้แล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะปีพ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ยังมีการประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทาง ดังนั้นการสร้างทางใหม่ควรจะเกิดหลังจากปีพ.ศ. ๒๔๙๔
  
รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๖๖ เล่ม ๖๘ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ หน้า ๑๔๙๒-๑๔๙๔ ก็เป็นเสมือนการเอาประกาศในปี ๒๔๘๙ มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพราะยังคงใช้แผนที่เดิมและแนวเดิมอยู่ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีการลงมือสร้างจริง เพราะแผนที่ที่ปรากฏในอีกไม่กี่ปีถัดมา (รูปที่ ๗) ก็มีเส้นทางรถไฟให้เห็นแล้ว

ที่ผมคิดว่าเส้นทางนี้แปลกก็คือมันมีแนวทางรถไฟเล็กเดิมอยู่แล้ว แต่แทนที่จะปรับปรุงเส้นทางเดิมให้เป็นทางมาตรฐาน กลับเลือกที่จะสร้างเส้นทางใหม่ แต่ก็เปิดใช้งานได้ไม่นานก่อนจะถูกยกเลิกไปในปีพ.ศ. ๒๕๐๗
 
เรื่องของทางรถไฟสายนี้นี้มีผู้ถกเถียงเอาไว้เยอะแล้ว ลองใช้ google หาโดยใช้คำ "รถไฟเล็กหัวหวาย" แล้วไปอ่านในเว็บ portal.rotfaithai.com ได้ (ผมขอไม่คัดลอกลิงค์มาเต็ม ๆ เพราะชื่อลิงค์มันยาวมาก)
ฉบับนี้ออกมาก็เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องราววิชาการหรือการเมืองต่อเนื่องมากเกินไป :)
   
รูปที่ ๗ แผนที่แสดงแนวเขตป่าสงวนท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๕ ตอนที่ ๗๙ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ หน้า ๕๕๙-๕๖๑ มีเส้นทางรถไฟปรากฏให้เห็นแล้ว
 
รูปที่ ๘ แผนที่แสดงแนวเขตป่าสงวนที่เพิกถอนท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๕๑ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๘๖-๘๘ ยังคงใช้รูปเดิมจากประกาศพ.ศ. ๒๕๐๑ (รูปที่ ๘) แต่ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกัน คือฉบับนี้เป็นการเพิกถอนสภาพความเป็นป่าสงวนที่ประกาศในพ.ศ. ๒๕๐๑

ไม่มีความคิดเห็น: