วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การทิ้งระเบิดประตูน้ำคลองดำเนินสะดวก (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๘) MO Memoir : Sunday 9 February 2557

Memoir ฉบับนี้เป็นฉบับต่อจากฉบับเมื่อวานที่เล่าถึงการทิ้งประตูน้ำคลองภาษีเจริญด้านแม่น้ำท่าจีน (Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๔๕ วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง "การทิ้งระเบิดประตูน้ำคลองภาษีเจริญ ภาค ๒ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๗)) คราวนี้เป็นรูปของประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกที่ถูกทิ้งระเบิดทำลายในเดียวกัน (คือวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕))



ลักษณะแสงเงาของภาพชุดนี้ดูแล้วก็เหมือนกับภาพชุดของคลองภาษีเจริญ ทำให้คาดได้ว่าควรจะถ่ายในช่วงเวลาเดียวกัน คือดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะค่อนไปทางตะวันตกเล็กน้อย ดูจากภาพแล้วคิดว่าการทิ้งระเบิดประตูน้ำทั้งสองตอนช่วงเที่ยงคงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักด้วยเหตุผลหลายประการเช่น ช่วงเวลาดังกล่าวดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ ดังนั้นการจะบินจากตะวันตกไปตะวันออกหรือตะวันออกไปตะวันตกจึงไม่มีปัญหา (หมดปัญหาเรื่องแดดส่องหน้านักบิน) ประตูน้ำคลองทั้งสองดูเหมือนจะไม่มีการวางปืนต่อสู้อากาศยานไว้ป้องกัน อาจจะมียกเว้นก็ที่ประตูน้ำคลองภาษีเจริญด้านแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะที่นั่นอยู่ใกล้กับกรุงเทพ และมีการวางปืนต่อสู้อากาศยานไว้ที่ "สายแยกไฟฉาย" (ถนนจรัญสนิทวงศ์ แถวพรานนก ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามแยกนี้เพราะตอนสงครามโลกมีการวางไฟฉายไว้ส่องเครื่องบินที่บินมาทิ้งระเบิดกรุงเทพตอนกลางคืน แต่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นสี่แยกไปแล้ว) ดังนั้นจึงสามารถใช้การทิ้งระเบิดระดับต่ำที่แม่นยำ ไม่เหมือนการทิ้งระเบิดชุมทางบางซื่อและสะพานพระราม ๖ ที่ทิ้งที่ระดับความสูงที่สูงกว่ามาก (ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๔๖ วันเสาร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๐ การทิ้งระเบิดสะพานสถานีรถไฟบางซื่อและสะพานพระราม ๖") 
  

อีกประการคือการที่แนวคลองเป็นเส้นตรง จึงช่วยในการนำทางเครื่องบิน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้คาดว่าการโจมตีประตูน้ำทั้ง ๔ แห่งของคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวกคงจะเกิดขึ้นในครั้งเดียว และประสบความสำเร็จ เพราะดูจากแต่ละภาพที่ถ่ายมานั้น (โดยเฉพาะภาพก่อนการทิ้งระเบิดเช่นรูปที่ ๒) ไม่มีร่องรอยว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีการทิ้งระเบิดก่อนหน้าและมีการพลาดเป้า
 

ที่ผมยังมีคำถามอยู่ก็คือความสำคัญของเส้นทางลำเลียงดังกล่าวนั้นใช้ลำเลียงอะไร เพราะถ้ามาทางทะเลก็สามารถนำเรือไปเข้าทางแม่น้ำแม่กลองได้ จะให้เข้ามาจอดที่คลองเตยแล้วถ่ายลงเรือเล็กวิ่งไปตามคลองก็จะเป็นการเสียเวลา หรือว่าทางแม่น้ำแม่กลองไม่มีท่าเทียบเรือ เลยต้องมาคลองเตยก่อน หรือว่าเป็นการลำเลียงสิ่งของที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ (อยู่บนบกอยู่แล้ว) ไปส่งทางตะวันตก เนื่องจากในเวลานั้นสะพานพระราม ๖ และบางซื่อก็โดนทำลายไปก่อนหน้าแล้ว (ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน) หรือว่าเป็นการโจมตีเพื่อโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดเส้นทางการถอยทัพของทหารญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะช่วงเวลานั้นกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังสู้รบอยู่ในประเทศพม่ากำลังอยู่ในสภาพที่ทำการล่าถอย



"ล่าถอย" สิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Sir William Slim ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษที่ทำการรบในพม่าได้กล่าวเอาไว้ว่า "... to capture a Japanese position held by 500 men you had first to kill 495 of them and then the final five would commit suicide."



รูปที่ ๑ ภาพประตูน้ำหลังการทิ้งระเบิด คำบรรยายรูปภาษาอังกฤษบอกว่าเป็นประตูน้ำคลองภาษีเจริญที่อยู่ที่ตำแหน่ง 25 ไมล์จากกรุงเทพ ซึ่งก็ควรเป็นด้านแม่น้ำท่าจีน แต่เมื่อสอบเทียบกับรูปที่ ๒ และรูปที่ ๓ ของ Memoir ฉบับที่ ๗๔๕ กลับพบว่าต่างกัน เพราะในรูปที่ ๒ และ ๓ ของ Memoir ฉบับที่ ๗๔๕ นั้นมีซากเรือที่ถูกทำลายจมอยู่ระหว่างบริเวณประตูน้ำเห็นได้ชัดเจน และอีกอย่างคือแนวของลำคลองในช่วงนี้เป็นเส้นตรง แต่ในรูปนี้เห็นแต่แนวลำคลองที่มาจากทางด้านซ้ายบนและซ้ายล่างของรูป และมีส่วนที่โดนควันดำบังอยู่ทางด้านขวาของภาพ ผมสงสัยว่ารูปนี้ควรจะเป็นรูปประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกด้านแม่น้ำท่าจีนมากกว่า เพราะอยู่ใกล้กับประตูน้ำคลองภาษีเจริญด้านแม่น้ำท่าจีน

รูปจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/SUK14263/ โดยมีคำบรรยายรูปดังนี้

Bangkok, Thailand. 1945-04-18. Lock gates on the western canal system of Thailand between twenty five and fifty miles from Bangkok were destroyed at three points in a low level daylight attack by RAF Liberator bomber aircraft of Strategic Air Force, Eastern Air Command. Shown, the lock gates of the "Klong Phasi Charoen" after they had been destroyed by the RAF Liberators. Sunken shipping can also be seen lying in the water. Several RAAF members were in the attacking force.





รูปที่ ๒ ภาพประตูน้ำคลองดำเนินสะดวก ดูจากภาพแล้วคาดว่าน่าจะเป็นภาพก่อนการทิ้งระเบิด (เทียบกับรูปที่ ๔ ที่เป็นรูปหลังการทิ้งระเบิด) รูปนี้มองจากทิศตะวันออกไปทางตะวันตกซึ่งจะตรงกับแผนที่ในรูปที่ ๗ ที่จะเห็นลำคลองโค้งไปทางซ้ายถ้ามองในทิศทางนี้

รูปจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P02491.110/ โดยมีคำบรรยายรูปดังนี้

Bangkok, Thailand. 18 April 1945. The west lock gate of the Klong Damneum Sadauk canal before a low-level daylight air attack by aircraft of No. 356 (Liberator) Squadron RAF of Strategic Air Force, Eastern Air Command. A similar attack was also made on the Klong Phasi Charoen canal. The canals were part of a large waterways system in the Bangkok area being used by the Japanese as an alternative communications route and the bomb damage caused by the air attacks reduced their efficiency by approximately 80%.





รูปที่ ๓ ประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกด้านแม่น้ำท่าจีน ภาพขณะเกิดการระเบิด รูปนี้มองจากทิศตะวันออกไปทางตะวันตก

รูปจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P02491.111/ โดยมีคำบรรยายรูปดังนี้

Bangkok, Thailand. 18 April 1945. A bomb exploding on the west end of the lock gate of the Klong Damneum Sadauk canal under a low-level daylight air attack by aircraft of No. 356 (Liberator) Squadron RAF of Strategic Air Force, Eastern Air Command. At the same time, Klong Phasi Charoen canal was under attack by other Liberator aircraft of No. 356 Squadron RAF. These two canals were important elements of a large waterways system in the Bangkok area being used by the Japanese as an alternative communications route and the damage caused by the air attacks reduced their efficiency by approximately 80%





รูปที่ ๔ ประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกหลังถูกระเบิดทำลาย จะเห็นประตูทางด้านออกแม่น้ำแม่กลองหายไป รูปนี้มองจากทิศตะวันตกไปทางตะวันออก

รูปจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P02491.112/ โดยมีคำบรรยายรูปดังนี้

Bangkok, Thailand. 18 April 1945. During a low-level daylight air attack by aircraft of No. 356 (Liberator) Squadron RAF of Strategic Air Force, Eastern Air Command on the Klong Damneum Sadauk canal, one of the west lock gates were destroyed. This attack was directed at the extensive canal system in the Bangkok area which was being used by the Japanese as an alternative communications route. Klong Phasi Charoen was the target of a similar attack on the same day.





รูปที่ ๕ แผนที่แสดงตำแหน่งประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกและประตูน้ำคลองภาษีเจริญด้านแม่น้ำท่าจีน จะเห็นว่าประตูน้ำทั้งสองด้านนั้นอยู่ใกล้กัน และอาจทำให้นักบินของเครื่องบินที่บินมาทิ้งระเบิดเข้าใจได้ว่าเป็นประตูน้ำของคลองเดียวกัน จึงทำให้คำบรรยายรูปที่ ๑ ที่นำมาแสดงนั้นระบุว่าประตูน้ำในภาพเป็นของคลองภาษีเจริญ แต่เมื่อพิจารณาแล้วคาดว่าควรจะเป็นประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกฝั่งด้านแม่น้ำท่าจีนมากกว่า





รูปที่ ๖ ภาพขยายประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกด้านแม่น้ำท่าจีน แนวลูกศรคาดว่าเป็นมุมมองของรูปที่ ๑








รูปที่ ๗ ตำแหน่งที่ตั้งประตูน้ำคลองดำเนินสะดวกด้านแม่น้ำแม่กลอง ลูกศรแสดงทิศทางมุมมองของรูปที่ ๒-๔

ไม่มีความคิดเห็น: